ประวัติเขาใหญ่
เขาใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในปัจจุบันยังคงเป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ที่ทอดยาวมาตั้งแต่เทือกเขาเพชรบูรณ์จนถึงเทือกเขาสันกำแพง และติดต่อไปจรดถึงเทือกเขาพนมดงรักบนพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชา สภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมทำให้เทือกเขาที่ทอดยาวนี้ได้รับความชุ่มชื้นจากลมมรสุม ผืนป่าใหญ่นี้จึงเป็นต้นธารน้ำมากมายที่หล่อเลี้ยงคนภาคกลางและภาคอีสาน ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นปราการที่แบ่งที่ราบลุ่มภาคกลางกับที่ราบสูงภาคอีสานออกจากกันโดยสิ้นเชิง
คำเล่าขานครั้งเก่าก่อนของชาวบ้านทำให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ป่าเขาใหญ่ที่เห็นอยู่วันนี้ เมื่อก่อนมีชื่อเรียกว่า "ป่าดงพญาไฟ" ป่าที่รกทึบเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายไข้ป่าและภยันตรายนานับประการได้คร่าชีวิตผู้ที่ต้องเดินทางผ่านป่าผืนนี้ไปมาระหว่างภาคกลางกับภาคอีสานนับไม่ถ้วน
ป่าดงพญาไฟผืนใหญ่ถูกตัดออกจากกันครั้งแรก เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่มีการตัดทางรถไฟเชื่อมภาคกลางกับภาคอีสานตามด้วยทางหลวงหมายเลข 2 หรือถนนมิตรภาพที่สร้างขึ้นในเวลาต่อมา แม้การก่อสร้างถนนกลางป่าดงดิบผืนนี้ต้องแลกด้วยชีวิตคนงานมากมายจากพิษของไข้ป่า แต่หลังจากนั้นเพียงไม่นานเมื่อถนนและทางรถไฟซ่อมเสร็จ ราษฎรเริ่มอพยพเข้ามาตั้งรกราก ชื่อ "ดงพญาไฟ" ก็ถูกแปรเปลี่ยนเป็น "ดงพญาเย็น" พร้อม ๆ กับความโหดร้ายของไข้ป่าสัตว์ร้ายในป่าดิบที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ
เขาใหญ่ วันนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของป่าดงพญาไฟหรือดงพญาเย็นในอดีต แต่ก็เป็นเสี้ยวที่ใหญ่ที่สุดที่เหลือรอดจากการไหลบ่าทางความเจริญในยุคพัฒนาประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2465 ป่าเขาใหญ่ก็กลายเป็นที่หลบซ่อนของผู้ร้ายที่หนีคดีมาตั้งเป็นหมู่บ้านกลางป่า จนกระทั่งทางการได้ทำการปราบปรามและอพยพชุมชนออกจากป่าให้หมด แล้วประกาศให้พื้นที่กว่า 1,350,000 ไร่ ส่วนหนึ่งของดงพญาเย็นที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 4 จังหวัดให้เป็น "อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่' อันเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505
เค้าโครงความเร้นลับของ "ดงพญาเย็น" ยังสะท้อนให้คนรุ่นหลังได้เห็นในภาพลักษณ์ของธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เขาใหญ่ในวันนี้ปราศจากไข้ป่าและสัตว์ร้ายที่เคยชุกชุม แต่ภายใต้เรือนยอดอันแน่นทึบของป่าอันหลากหลายทั้งป่าดิบขึ้นไปจนถึงป่าดิบเขายังเต็มไปด้วยสรรพชีวิตทั้งพรรณไม้ สัตว์และแมลงผีเสื้อมากมายให้ชื่นชมและศึกษาได้ไม่รู้จบ เหนือยอดไม้เรายังได้เห็นนกเงือกอันเป็นเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์บินรวมกันเป้นฝูง สัตว์ใหญ่อย่างช้างป่าก็ยังหากินอยู่ในป่าเขาใหญ่นับร้อยตัว
สรรพสิ่งต่าง ๆ ในป่าเขาใหญ่ต่างอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศวิทยาที่เกื้อกูลกัน สร้างความอุดมสมบูรณ์และให้ผลผลิตเป็นสายธารนับสิบสายที่ไม่ได้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนที่ปลายน้ำเท่านั้น แต่เมื่อสายธารเหล่านี้ไหลลดหลั่นผ่านโตรกผากลายเป็นน้ำตกหลายสิบแห่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เขาใหญ่ในวันนี้ดำรงตนในฐานะอุทยานแห่งชาติอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่มีผู้มาเยือนมากกว่าหนึ่งล้านคนต่อปีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากหากเพียงหวังว่าความงดงามของธรรมชาติจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มาเยือนทุกคนเกิดความรัก และหวงแหนป่าเขาใหญ่ให้คงอยู่ตลอดไป..